Tuesday, February 22, 2011

แนะผู้ปลูกผักแบบไฮโดรโพนิกส์ การพรางแสงที่เหมาะสม ช่วยลดไนเตรท ทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น

การปลูกพืชแบบไฮโดรโพนิกส์ หรือ การปลูกพืชแบบไม่ใช้ดิน (Soilless Culture) เป็นการปลูกพืชรูปแบบใหม่ ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมกันอย่างมากในหมู่เกษตรกร เนื่องจากคุณสมบัติหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น การลดค่าใช้จ่ายในส่วนของการเตรียมดิน การกำจัดวัชพืช หรือด้านผลผลิตที่สามารถทำการเพาะปลูกได้ต่อเนื่องตลอดปี และผลผลิตที่สม่ำเสมอ ทั้งปริมาณและคุณภาพ
   
     หลักการสำคัญของการปลูกพืชเลียนแบบธรรมชาติ โดยวิธีที่เรียกว่าไฮโดรโพนิกส์ นั้น อยู่ที่การเตรียมสภาวะของธาตุอาหารให้อยู่ในรูปที่พืชนำไปใช้ได้ โดยใช้วัสดุอื่นทดแทนดิน ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบ เช่น ปลูกในสารละลาย ปลูกแบบเติมอากาศ ปลูกแบบน้ำลึกหมุนเวียน ปลูกแบบให้สารอาหารไหลเป็นแผ่นฟิล์ม หรือ ปลูกในวัสดุปลูกต่าง ๆ อาทิ ทราย, กรวด, ฟองน้ำ, ขุยมะพร้าว แล้วให้สารละลายธาตุอาหารแก่พืช
   
แต่ อย่างไรก็ตาม การปลูกพืชแบบไฮโดรโพนิกส์ ให้ได้ผลดีนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่เกษตรกรต้องมีความชำนาญในการดูแลและจัดการระบบ เพราะนอกจากปัญหาภายนอกอย่างวัสดุปลูกบางชนิดไม่ย่อยสลาย ซึ่งส่งผลต่อระบบโดยรวมแล้ว ปัญหาเฉพาะที่เกิดขึ้นกับผักที่ปลูกในระบบไฮโดรโพนิกส์ คือ ปริมาณไนเตรทที่สะสมอยู่ในใบผัก ซึ่งมีปริมาณสูง เนื่องจากผักที่ปลูกในที่ร่มครึ้มนั้น  จะมีอัตราการสังเคราะห์แสงน้อย ทำให้ไนเตรทไม่ได้ถูกนำไปใช้ จึงมาสะสมอยู่ที่ใบผัก ซึ่งไนเตรทนี้ถ้าไปสะสมอยู่ในร่างกายคนมาก ๆ ก็จะไปจับตัวกับออกซิเจนในเม็ดเลือด (เฮโมโกลบิน) ทำให้ตัวผู้บริโภคเป็นสีฟ้าและซีด และส่วนหนึ่งยังเปลี่ยนรูปเป็นสารที่ชื่อว่า ไนโทรซามีน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งรูปแบบหนึ่งด้วย
   
และ ปัญหาสำคัญดังกล่าว นี้เอง ได้กลายมาเป็นโจทย์ของงานวิจัยเรื่อง “ผลของการพรางแสงต่อผลผลิตและปริมาณไนเตรทตกค้างในผักกาดหอมบัตเตอร์เฮดที่ ปลูกโดยไม่ใช้ดิน”  ของคณาจารย์จากสาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิตพืช คณะเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ วิทยาเขตพระนครศรีอยุธยา หัน ตรา นำโดย ผศ.กิตติ บุญเลิศนิรันดร์ ทั้งนี้ เพื่อหาหนทางแก้ไข ปัญหาการสะสมของไนเตรทซึ่งส่งผลระยะยาวต่อสุขภาพของผู้บริโภค  
   
โดย ผศ. กิตติ เปิดเผยว่า  “ปัญหาไนเตรทตกค้างในผักที่ปลูกโดยระบบไฮโดรโพนิกส์นั้น เป็นปัญหาระยะยาว ที่เกษตรกรส่วนใหญ่มักจะละเลย เพราะการที่จะทราบปริมาณ    ไนเตรทที่สะสมในผักนั้น ต้องนำมาทดสอบในห้องทดลองด้วยเครื่อง Reflectometer RQflex เท่านั้น ซึ่งจากการทดสอบปริมาณไนเตรทตกค้างในพืชผักประเภทผักสลัด ได้แก่ ผักกาดหอมบัตเตอร์เฮด ซึ่งปลูกแบบไฮโดรโพนิกส์ ในห้องทดลอง ปรากฏว่า ปริมาณไนเตรทตกค้างมีค่อนข้างสูง เพราะโดยธรรมชาติ ผักกาดหอมเป็นพืชที่ต้องการแสงเต็มที่ตลอดวัน และอุณหภูมิการปลูกเฉลี่ยประมาณ 15-21 องศาเซลเซียส ฉะนั้นการปลูกผักกาดหอมในระบบไฮโดรโพนิกส์ จึงต้องมีการพรางแสงที่เหมาะสม เพื่อการสังเคราะห์แสงที่สมบูรณ์ ไม่มีปริมาณไนเตรท   ตกค้าง
   
ตาม ปกติ การพรางแสง ในการปลูกผัก ระบบไฮโดรโพนิกส์ มักจะใช้สแลนด์หรือตาข่ายสีดำ เป็นเครื่องมือในการช่วยพรางแสง และเกษตรกรส่วนใหญ่มักจะพรางแสงมากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจากการศึกษาวิจัย เป็นอัตราที่สูงเกินไป ผักกาดหอมจึงสังเคราะห์แสงได้น้อย ส่งผลให้ไนเตรทไปสะสมที่ใบผักในปริมาณสูงขึ้น แต่ถ้าเกษตรกรสามารถลดอัตราการพรางแสงให้เหลือประมาณ 50-60 เปอร์เซ็นต์ ได้ ผักกาดหอมจะสังเคราะห์แสงในอัตรามากขึ้น ทำให้ไนเตรทนั้นไปสะสมที่ใบผักในปริมาณที่ลดลง นอกจากนั้นจากการวิจัยครั้งนี้ยังพบว่า การพรางแสงมีผลทำให้ความสูงของต้นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และความกว้างทรงพุ่มกว้างขึ้นอีกด้วย
   
สำหรับปัญหาสารพิษตกค้าง ในพืชผักนี้ กล่าวได้ว่า ผู้ที่รับผลกระทบจากปัญหานี้เต็ม ๆ คือ ผู้บริโภค ดังนั้น เกษตรกร ในฐานะผู้ผลิต จึงไม่ควรละเลยในการหาหนทางมาแก้ไข บรรเทาปัญหานี้ให้เบาบางลง ดังนั้น เกษตรกรผู้ใดสนใจ อยากทราบเทคนิคการพรางแสง รวมทั้งเทคนิคในการปลูกพืชในระบบไฮโดรโพนิกส์ เพิ่มเติม สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้โดยตรงที่ ศูนย์คลินิกเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ 60 หมู่ 3 ต.หันตรา      อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา หมายเลขโทรศัพท์ 0-3532-3620 ในวันและเวลาราชการ.
   
   
ประอรพิชญ์ คัจฉวัฒนา
     กองประชาสัมพันธ์ราชมงคล

ที่มา หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

http://www.nicaonline.com/webboard/index.php?topic=3642.0

No comments:

Post a Comment

Note: Only a member of this blog may post a comment.

stat